วันเสาร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

ระบบการปลูกพืช (ตอนที่ 1)

     พืช (Plant) เป็นอาหารที่มนุษย์มีการบริโภคกันมาช้านาน ทั้งพืชที่ปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนหรือปลูกเพื่อบริโภคในเชิงพาณิชย์ ในปัจจุบันการปลูกพืชมีวิธีการปลูกหลากหลายวิธี หากแบ่งตามชนิดของวัสดุปลูกหลัง สามารถแบ่งได้ 2 วิธีคือ การปลูกพืชแบบใช้ดิน และการปลูกพืชแบบไร้ดิน หรือแบ่งตามการพึ่งพาระบบนิเวศวิทยา (Ecology) สามารถแบ่งได้ 2 วิธีคือ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือการปลูกพืชแบบปฏิวัติเขียว และการปลูกพืชแบบผสมผสาน ซึ่งสามารถแยกย่อยออกได้เป็น เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสารพิษ เกษตรปลอดภัยจากสารพิษ เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนจะพยายามรวบรวมข้อมูลระบบการปลูกพืชต่างๆ มาบอกกล่าวกัน แต่คงไม่สามารถบอกว่าวิธีใดดี หรือไม่ดี
สำหรับระบบการปลูกพืชแรกที่จะกล่าวกันก็คือ "การปลูกพืชไร้ดิน"
    หลายๆ  คนที่เคยเดินซูเปอร์มาร์เก็ต คงเคยเห็นผักสลัดที่บรรจุใส่ถุง และหน้าซองเขียนว่า ผักไฮโดรโปรนิกส์ ซึ่งสนนราคาตั้งแต่ 45-65 บาทขึ้นไปตามแต่น้ำหนัก การปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ที่กล่าวมานี้ก็เป็นระบบการปลูกพืชชนิดหนึ่งของการปลูกพืชไร้ดินนั่นเอง..
     การปลูกพืชไร้ดิน หรือ Soiless Culture หมายถึง วิธีการปลูกพืชโดยวิธีใดวิธีหนึ่งที่ไม่มีดินมาเกี่ยวข้อง
     ประเภทของการปลูกพืชไร้ดิน มี 3 แบบด้วยกันคือ
1. ปลูกแบบไฮโดรโปรนิกส์ (Hydroponic Culture)
2. ปลูกในวัสดุปลูก (Substate Culture)
3. ปลูกแบบแอโรโพนิกส์ (Aeroponic Culture)


1. ปลูกแบบไฮโดรโปรนิกส์ (Hydroponic Culture)  การปลูกแบบนี้สามารถปลูกได้ทั่วไปในภาชนะที่ขังน้ำได้ โดยรากของพืชที่ปลูกจะแช่อยู่ในน้ำที่มีสารอาหารตลอดระยะเวลาปลูก มีหลายแบบด้วยกัน เช่น

  • ปลูกในขวดที่ใช้แล้ว

  • ปลูกในอ่างแก้ว

  • ปลูกในกระถาง

  • ปลูกในกระเช้าแขวน

  • ปลูกในกะบะ ซึ่งมีทั้งแบบไม่หมุนเวียนน้ำชนิดเติมอากาศ หรือแบบหมุนเวียนน้ำจำนวนมา (Nutrient Flow Techique)

  • ปลูกในระบบรางปลูกแบบหมุนเวียนน้ำเป็นฟิลม์บาง (Nutrient Film Technique)
 2. ปลูกในวัสดุปลูก (Substate Culture) เป็นการปลูกในวัสดุปลูกอื่นๆ ที่ไม่ใช้ดิน อาทิเช่น

  • ปลูกในทราย (Sand Culture)

  • ปลูกในวัสดุขุยมะพร้าวผสมทราย

  • ปลูกในแกลบดำผสมทราย
3. ปลูกแบบแอโรโพนิกส์ (Aeroponic Culture) เป็นการปลูกพืชโดยให้รากสัมผัสกับอากาศ น้ำ และธาตุอาหารโดยตรง
     กล่าวโดยสรุปแล้วการปลูกพืชไร้ดิน คือวิธีการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินมาเกี่ยวข้อง โดยอาศัยหลักการ 3 ประการที่ทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตอยู่ได้ นั่นคือ น้ำ ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช และสิ่งค้ำยันเพื่อให้ต้นพืชสามารถดำรงต้นอยู่ได้

วันศุกร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

เพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง


สภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบัน ส่งผลให้ประเทศไทยช่วงนี้บางพื้นที่ที่ควรจะเป็นฤดูฝน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลเท่าใดนัก จากสภาพอากาศที่แปรปรวนดังกล่าว นอกจากเกษตรกรจะประสบกับปัญหาภัยแล้งแล้ว ปัญหาการระบาดของโรคและแมลงในพืช ก็เริ่มทยอยเข้ามาเป็นระยะๆ เริ่มจากเพลี้ยกระโดดในนาข้าว จนถึงเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง ที่ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากให้กับเกษตรผู้ปลูกมันสำปะหลังในบ้านเรา

เพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง เริ่มระบาดในมันสำปะหลังเมื่อต้นปี 2551 และระบาดรุนแรงในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง จังหวัดกำแพงเพชร ระยอง ชลบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี และนครราชสีมา โดยเพลี้ยแป้งทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของมันสำปะหลัง และขับถ่ายมูลออกมา ทำให้เกิดราดำ สำหรับมันสำปะหลังที่ถูกเพลี้ยแป้งทำลายมากจะมีลักษณะ ลำต้นมีช่วงข้อถี่ ยอดแห้งตาย หรือยอดแตกพุ่ม ถ้าระบาดในระยะที่มันสำปะหลังยังเล็กอยู่จะมีผลกระทบต่อการสร้างหัวของมันสำปะหลัง ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ
เพลี้ยแป้งจะแพร่กระจายตามลำต้น โคนใบและใต้ใบมันสำปะหลังและจะเพิ่มปริมาณจนเต็มข้อ ลำต้น ใบ และยอด ตัวอ่อนสามารถแพร่กระจายไปสู่บริเวณพื้นที่อื่นโดยการติดไปกับท่อนพันธุ์หรือกระแสลม นอกจากนี้ยังมีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งแพร่กระจายไปสู่มันสำปะหลังต้นอื่นๆ ด้วย
แนวทางในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง สำหรับพื้นที่ที่มีพบการระบาดของเพลี้ยแป้ง

  • หลีกเลี่ยงการปลูกมันในช่วงฤดูแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการระบาดของเพลี้ยแป้ง

  • ก่อนปลูกควรมีการไถพรวนดินหลาย ๆ ครั้ง และตากดินอย่างน้อย 14 วันเพื่อลดปริมาณเพลี้ยแป้งในดิน

  • ก่อนปลูกมันสำปะหลังควรมีการแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารฆ่าแมลงไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นเวลา 15-10 นาที

  • ต้องตรวจแปลงทุกๆ 14 วัน

  • ในมันสำปะหลังอายุ 1-4 เดือนหากพบการระบาดไม่มากนัก ควรตัดยอดแล้วพ่นด้วยสารเคมี*บริเวณที่พบ ถ้าพบการระบาดมากให้ถอนทิ้งทั้งหมด เผาทำลายนอกแปลง

  • ในมันสำปะหลังอายุ 4-8 เดือนหากพบการระบาดให้ตัดยอดหรือถอนต้นที่พบ แล้วพ่นด้วยสารเคมีบริเวณที่พบ และรัศมีโดยรอบทันที

  • ในมันสำปะหลังอายุ 8 เดือนหากพบการระบาด ควรเก็บผลผลิตตัดต้นนำไปทำลาย ทำความสะอาดแปลง และปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช่พืชอาศัยของมันสำปะหลัง เช่น อ้อย ข้าวโพด ข้าวฟ่าง พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น
* สารเคมีที่แนะนำได้แก่

  1. ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

  2. อิมิดาคลอพริด 70% WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

  3. ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
เอกสารอ้างอิง : คู่มือการกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง, สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร 2552.