วันศุกร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

เพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง


สภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบัน ส่งผลให้ประเทศไทยช่วงนี้บางพื้นที่ที่ควรจะเป็นฤดูฝน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลเท่าใดนัก จากสภาพอากาศที่แปรปรวนดังกล่าว นอกจากเกษตรกรจะประสบกับปัญหาภัยแล้งแล้ว ปัญหาการระบาดของโรคและแมลงในพืช ก็เริ่มทยอยเข้ามาเป็นระยะๆ เริ่มจากเพลี้ยกระโดดในนาข้าว จนถึงเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง ที่ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากให้กับเกษตรผู้ปลูกมันสำปะหลังในบ้านเรา

เพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง เริ่มระบาดในมันสำปะหลังเมื่อต้นปี 2551 และระบาดรุนแรงในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง จังหวัดกำแพงเพชร ระยอง ชลบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี และนครราชสีมา โดยเพลี้ยแป้งทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของมันสำปะหลัง และขับถ่ายมูลออกมา ทำให้เกิดราดำ สำหรับมันสำปะหลังที่ถูกเพลี้ยแป้งทำลายมากจะมีลักษณะ ลำต้นมีช่วงข้อถี่ ยอดแห้งตาย หรือยอดแตกพุ่ม ถ้าระบาดในระยะที่มันสำปะหลังยังเล็กอยู่จะมีผลกระทบต่อการสร้างหัวของมันสำปะหลัง ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ
เพลี้ยแป้งจะแพร่กระจายตามลำต้น โคนใบและใต้ใบมันสำปะหลังและจะเพิ่มปริมาณจนเต็มข้อ ลำต้น ใบ และยอด ตัวอ่อนสามารถแพร่กระจายไปสู่บริเวณพื้นที่อื่นโดยการติดไปกับท่อนพันธุ์หรือกระแสลม นอกจากนี้ยังมีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งแพร่กระจายไปสู่มันสำปะหลังต้นอื่นๆ ด้วย
แนวทางในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง สำหรับพื้นที่ที่มีพบการระบาดของเพลี้ยแป้ง

  • หลีกเลี่ยงการปลูกมันในช่วงฤดูแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการระบาดของเพลี้ยแป้ง

  • ก่อนปลูกควรมีการไถพรวนดินหลาย ๆ ครั้ง และตากดินอย่างน้อย 14 วันเพื่อลดปริมาณเพลี้ยแป้งในดิน

  • ก่อนปลูกมันสำปะหลังควรมีการแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารฆ่าแมลงไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นเวลา 15-10 นาที

  • ต้องตรวจแปลงทุกๆ 14 วัน

  • ในมันสำปะหลังอายุ 1-4 เดือนหากพบการระบาดไม่มากนัก ควรตัดยอดแล้วพ่นด้วยสารเคมี*บริเวณที่พบ ถ้าพบการระบาดมากให้ถอนทิ้งทั้งหมด เผาทำลายนอกแปลง

  • ในมันสำปะหลังอายุ 4-8 เดือนหากพบการระบาดให้ตัดยอดหรือถอนต้นที่พบ แล้วพ่นด้วยสารเคมีบริเวณที่พบ และรัศมีโดยรอบทันที

  • ในมันสำปะหลังอายุ 8 เดือนหากพบการระบาด ควรเก็บผลผลิตตัดต้นนำไปทำลาย ทำความสะอาดแปลง และปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช่พืชอาศัยของมันสำปะหลัง เช่น อ้อย ข้าวโพด ข้าวฟ่าง พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น
* สารเคมีที่แนะนำได้แก่

  1. ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

  2. อิมิดาคลอพริด 70% WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

  3. ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
เอกสารอ้างอิง : คู่มือการกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง, สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร 2552.

ไม่มีความคิดเห็น: